'ป่ากุยบุรี' เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม 'ป่าแก่งกระจาน' แหล่ง 'มรดกโลก' ทางธรรมชาติของประเทศไทย โดยเฉพาะ 'ช้างป่ากุยบุรี' ที่เป็นหมุดหมายที่ทุกคนตั้งตารอคอย
ป่ากุยบุรี เป็นพื้นที่สีเขียวที่เชื่อมต่อระหว่างภาคกลางและภาคใต้ เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม ป่าแก่งกระจาน ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่ง มรดกโลก ทางธรรมชาติของประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ อุทยานแห่งชาติกุยบุรี มีพื้นที่ประมาณ 650,000 ไร่ ครอบคลุม 4 อำเภอในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คือ อำเภอปราณบุรี สามร้อยยอด กุยบุรี และอำเภอเมือง
ชวนเที่ยวป่ากุยบุรีหน้าร้อน อะไรจะสำคัญเท่ากับเฝ้าคอยดู ช้างป่ากุยบุรี อย่างเงียบ ๆ...

หน้าทางเข้าเส้นทางชมช้างป่ากุยบุรี
ผืนป่ากุยบุรี มีแหล่งต้นน้ำที่สำคัญคือแม่น้ำกุยบุรีและแม่น้ำปราณบุรี จากการสำรวจของอุทยานฯ พบว่า มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 39 ชนิด เช่น ช้าง วัวแดง กระทิง เลียงผา เก้ง เสือ ฯลฯ รวมทั้งนก 200 ชนิด ผีเสื้อกว่า 200 ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 22 ชนิด และสัตว์เลื้อยคลานอีก 44 ชนิด
เราเข้าป่าหน้าร้อน เพื่อเฝ้าคอยเพื่อนร่วมโลก ช้างป่ากุยบุรี คือเสน่ห์ของการรอคอยอย่างหนึ่ง คือการได้รู้ว่า สิ่งที่มองหานั้นมีอยู่จริง แม้จะได้เจอหรือไม่ก็ตาม เครื่องพิสูจน์ที่ดีคือเวลา

กล้องส่องทางไกลเป็นของจำเป็น
การเฝ้ารอของเราอาจจะเริ่มต้นเมื่อช่วงบ่ายวันนั้น แต่ความตั้งใจของคนรักป่าเกิดขึ้นมานานแล้ว ในทุกวันเรามีเจ้าหน้าที่ดูแลทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ พวกเขาทุ่มเทในการปกป้องสมบัติอันล้ำค่าเพื่อพวกเราทุกคน

สภาพป่ากุยบุรีหน้าร้อน
เที่ยวป่าหน้าร้อน...ชมช้างป่าแห่งกุยบุรี
เราเดินทางมายัง อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ในช่วงหน้าร้อน ไกด์ท้องถิ่นบอกว่าเป็นช่วงที่สัตว์ป่าค่อนข้างเก็บตัว จากจุดเริ่มต้นบริเวณหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ กร.5 (ห้วยลึก) เราขึ้นรถกระบะขับเคลื่อน 4 ล้อเข้าไปในระยะทาง 7.6 กิโลเมตร มี 4 จุดหลักให้แวะชมคือ จุดชมสัตว์ป่าโป่งสลัดได, หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กร.1 (ป่ายาง), จุดชมสัตว์ป่าพุยายสาย และผาชมสัตว์ป่า

เส้นทางชมสัตว์ป่า
ที่นี่เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ตามธรรมชาติ การเข้าชมจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง สิ่งที่สำคัญคือการเว้นระยะห่าง ไม่ส่งเสียงดัง ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ใช้แฟลชในการถ่ายภาพ ฯลฯ

กระทิง พบมากในผืนป่ากุยบุรี
หากย้อนไปในอดีตเราอาจเคยได้ยินปัญหาที่เกิดขึ้นกับช้าง ทั้งการล่าหรือการนำช้างออกมาเดินถนน รวมทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า หรือปัญหาป่าเสื่อมโทรมซึ่งทำให้แหล่งอาหารของสัตว์ป่าขาดแคลน จนทำให้พวกมันต้องออกมากินผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน เกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างเรื่อยมา

การท่องเที่ยวในเส้นทางชมสัตว์ป่ากุยบุรี ดำเนินการโดย ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี เป็นหนึ่งในวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล โดยรายได้ทั้งหมดทั้งค่าไกด์และรถนำเที่ยวจะเป็นของชาวบ้าน

เส้นทางชมสัตว์ป่าเป็นที่นิยมมาก
นอกจาก อุทยานแห่งชาติกุยบุรี แล้ว ยังมีกลุ่มคนจากหลายองค์กรเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า หนึ่งในนั้นคือ โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี โดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย หรือ WWF ประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในหลายมิติ ทั้งการปรับปรุงแหล่งอาหารและแหล่งน้ำ การจัดหาอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ที่รวมทั้งการส่งเสริมการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol) และการพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยให้รู้เส้นทางของช้างและหาทางป้องกันก่อนที่พวกมันจะออกมาสู่พื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน
ล่าสุดยังมีความร่วมมือจาก Agoda ภายใต้โครงการ Eco Deals ที่ดำเนินมาแล้วเป็นปีที่ 4 โครงการนี้จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติ หนึ่งในนั้นคือ โครงการอนุรักษ์ช้างในประเทศไทย ใครที่จองโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ Eco Deals จะมีเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ส่งต่อไปยังโครงการอนุรักษ์ธรรมชาติใน 10 ประเทศทั่วเอเชีย รวมทั้งโครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี โดย WWF ประเทศไทย

จากรายงานของอุทยานฯ ระบุว่า เมื่อปี 2559 สำรวจพบช้าง 237 ตัว ทั้งเจ้าหน้าที่และความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ทำให้ปัจจุบันสำรวจพบประชากรช้างมากกว่า 300 ตัว
นี่คือการเฝ้ารอแบบไม่อยู่เฉย และผลของมันก็เริ่มเบ่งบานให้เห็น แม้ว่าเกือบสองชั่วโมงในวันนี้เราจะพบเห็นสัตว์เพียงบางชนิด แต่แค่ได้ยินเสียงร้องของเจ้าตัวโตที่หากินอยู่ป่าก็พอชื่นใจ แม้ยังมองไม่เห็น
ยามเย็นขณะที่แสงเริ่มจาง พวกเรายืนอยู่ที่ ผาชมสัตว์ป่า ซึ่งเป็นจุดสุดท้าย เฝ้ามอง นกแก๊ก ที่โผบินเป็นการปลอบใจ หากใช้กล้องส่องทางไกลจะเห็นฝูงกระทิงกระจายตัวอยู่ตามลานหญ้า และเมื่อทำท่าว่าจะขึ้นรถกลับ เราก็ได้ยินสัญญานเสมือนเสียงกลองที่กึกก้องไปทั่วป่า แล้วม่านสีเขียวครึ้มก็ถูกเปิดออกมา

โขลงช้างป่าเคลื่อนตัวอย่างช้า ๆ
ไกลออกไปในแนวป่าอีกฝั่งถนน พวกเราเดินข้ามตามกันไปแบบเงียบ ๆ ปักหลักซุ่มมองอยู่ห่าง ๆ กะคร่าว ๆ น่าจะราว 500 เมตร นาทีอันเงียบเชียบพาให้โขลงช้างเดินตามกันอย่างใจเย็น ราว 10 นาที พวกมันก็เคลื่อนตัวใกล้เข้ามามากขึ้น หัวใจฟู ๆ ของเราจึงต้องค่อย ๆ ถอยออกมาอย่างช้า ๆ

จากบ่ายถึงเย็น แค่เพียงไกล ๆ ก็อุ่นใจที่ได้เห็น...
นี่คือเสน่ห์ของการรอคอย เป็นความห่างไกลที่ใกล้ชิดกันได้มากกว่า หากรักช้างก็ต้องรักป่า ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกล หรือเวลาไหนก็ตาม สำหรับช่วงเวลาสั้น ๆ อันน่าจดจำนี้จะถูกบันทึกอย่างแนบแน่นในหัวใจ จนกว่าจะพบกันใหม่
(ชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี โทร.085 266 1601 เข้าชมได้ตลอดทั้งปี เวลา 14.00 – 17.00 น.)

กระดาษจากเส้นใยสับปะรด บ้านรวมไทย
DIY ของคนรักษ์โลก
ในตัวหมู่บ้าน ต.หาดขาม พื้นที่ใกล้เคียงกับอุทยานฯ ยังมีกิจกรรม ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากใบสับปะรด บ้านรวมไทย ชวนมา DIY กระดาษจากเส้นใยธรรมชาติ รวมทั้งขี้ช้าง ประดับด้วยดอกไม้สวย ๆ ตามจินตนาการของตัวเอง (โทร.085 290 7436)




หรือไปทำ ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ทั้งสีจากใบไม้ จากดินโคลน รวมทั้งขี้ช้าง ที่ กลุ่มช้างป่ากุยบุรีโฮมสเตย์ (089 252 8263) เป็น 2 กิจกรรมที่สนุก เพลิดเพลิน ต่อยอดวัสดุเหลือทิ้งให้มีคุณค่า รวมทั้งสนับสนุนอาชีพและรายได้ให้กับคนในพื้นที่