ประกันภัย

แบงก์สหรัฐล้ม! ​ "กูรูนักคณิตศาสตร์ประกันภัยไขปม" ทำไมถึงล้มได้จากการลงทุนในบอนด์รัฐบาล


“อาจารย์พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (อาจารย์ทอมมี่)” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนส โซลูชั่น (ABS) และในฐานะอดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยฯที่คร่ำหวอดในวงการคณิตศาสตร์ประกันภัยมายาวนาน​ ได้โพสต์บนเพจเฟสบุ๊คความว่า​ ทำไมธนาคาร SVB ในอเมริกาถึงล้มได้จากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล


อยากลองเขียนอีกมุมของการบริหารงบการเงินในมุม ALM (Asset Liability Management) ของธนาคารไว้บ้างเพื่อแชร์ประสบการณ์ในสมัยที่ผมทำงานอยู่ในฮ่องกงและเคยอยู่บริษัทที่เป็นเครือของ AIG ในสมัยนั้น ทำให้เห็นภาพติดตาของสถาบันการเงินที่มีสัญญาณค่อยๆ ล้มหายไปตั้งแต่วันแรกจนเป็นโดมิโน่ทั้งกระดานตามมาในสมัยนั้น


ปกติธนาคารจะได้รับเงินเข้ามาก็ต่อเมื่อมีคนฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารก็จะมีตั้งแต่เงินฝากออมทรัพย์ซึ่งถอนได้ทุกเมื่อ กับอีกลักษณะที่เป็นเงินฝากประจำซึ่งมีระยะเวลายาวขึ้นมาและถ้าถอนก่อนกำหนดก็อาจจะไม่ได้รับดอกเบี้ยเต็มจำนวนเพื่อป้องกันการแห่กันถอนเงิน


เงินฝากของลูกค้าที่ธนาคารได้รับมานั้น จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ซึ่งธนาคารต้องตั้งเป็นหนี้สินเอาไว้ เพราะมีภาระที่ต้องจ่ายคืนเงินให้ลูกค้าในอนาคต และแน่นอนว่า หน้าที่ของธนาคารไม่ใช่มีแค่จะต้องสำรองเงินไว้จ่ายในยามฉุกเฉินคืนให้ลูกค้าเท่านั้น แต่จะต้องนำเงินที่ได้มานั้นไปลงทุนให้เกิดดอกผลขึ้นมา เพื่อหล่อเลี้ยงธนาคารนั้นให้อยู่รอดไปได้


ในการลงทุนของธนาคารนั้น ธนาคารสามารถทำได้หลายแบบซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการปล่อยกู้สินเชื่อ โดยระยะเวลาการปล่อยกู้สินเชื่อก็มีระยะเวลาแตกต่างกันไป ขึ้นกับประเภทของการปล่อยกู้ หรือถ้าธุรกิจของธนาคารนั้นไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อปล่อยสินเชื่อ ธนาคารอาจจะเลือกในเงินที่ได้มานั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่นด้วยก็ได้ ซึ่งพันบัตรรัฐาลก็ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยที่สุด (แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีความเสี่ยงแฝงอยู่อีกหลายอย่าง สามารถตามอ่านบทความที่ผ่านมาเกี่ยวกับความเสี่ยงของตราสารหนี้ทั้งหมด 12 แบบ ที่ผมเคยเขียนขึ้นได้ครับ) แต่ธนาคารก็มีสิทธิ์เลือกลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงอื่นได้เช่นกัน


แต่จุดที่สำคัญที่เห็นในธุรกิจธนาคารก็คือ "สินทรัพย์ที่ธนาคารสามารถเลือกลงทุนได้นั้น (ปล่อยกู้สินเชื่อ หรือ ลงทุนในตราสารหนี้) จะมีธรรมชาติที่มีระยะเวลาของสัญญาที่ยาวกว่าฝั่งหนี้สิน (เงินฝากจากลูกค้าธนาคาร)" ซึ่งในสถานการณ์ปกตินั้นก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร


ซึ่งในเรื่องการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินนั้น ปกติแล้วจะเอาปัจจัยดอกเบี้ยมาคำนวณเป็นปัจจัยหลักด้วย ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงก็แปลว่าเงินที่เราจะได้ในอนาคตมันก็จะถูกด้อยค่าลง (เพราะเงินตอนนี้ จะดูมีความสำคัญกว่าเงินในอนาคต) ทำให้เวลาดอกเบี้ยสูงขึ้น จะมีผลลัพธ์ในการประเมินมูลค่าที่ได้ค่าที่ลดลงอยู่เสมอ และยิ่งเวลาเราประเมินอะไรที่มีระยะยาวมากๆ ตัวปัจจัยของอัตราดอกเบี้ย (ภาษาการเงินเรียกว่า อัตราคิดลด หรือ discount rate) นั้นก็จะยิ่งมีผลทวีคูณเข้าไปอีก


นั่นแปลว่า ถ้าเราถือสินทรัพย์ที่เป็นตราสารหนี้ระยะเวลา 10 ปี แล้วเวลาอัตราดอกเบี้ยยิ่งสูงเท่าไร มูลค่าของตราสารหนี้ก็จะมีค่าลดลงทวีคูณเท่านั้น


และถ้า เปรียบเทียบ ตราสารหนี้ระยะเวลา 10 ปี กับ ตราสารหนี้ระยะเวลา 5 ปี แล้วเราจะเข้าใจได้ว่า ตราสารหนี้ระยะเวลา 10 ปีนั้น จะผันผวนและมีผลกระทบมากกว่า จากปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ย (ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ตราสารหนี้ระยะเวลา 10 ปี จะมีมูลค่าลดลงและมีผลกระทบมากกว่า ตราสารหนี้ระยะเวลา 5 ปี)


การที่อัตราดอกเบี้ยถูกปรับตัวขึ้นมาสูงนั้น ทำให้มูลค่าของสินทรัพย์ถูกประเมินมูลค่าใหม่ให้มีค่าลดลงด้วยความรวดเร็ว (เนื่องจากมีระยะเวลาของสัญญาที่ยาวกว่า) 


การที่อัตราดอกเบี้ยถูกปรับตัวขึ้นมาสูงนั้น ทำให้มูลค่าของหนี้สินถูกประเมินมูลค่าใหม่ให้มีค่าลดลงเช่นกัน (แต่เนื่องจากเงินฝากนั้นมีระยะเวลาที่สั้นกว่า ผลกระทบทางฝั่งหนี้สินจึงไม่มากนัก) 


ผลลัพธ์ที่ได้คือ เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ตัวของธนาคารก็จะมีผลกระทบที่จะทำให้กำไรสะสมนั้นลดลงมา ซึ่งในทางบัญชีนั้น ถ้าตราสารหนี้มีความตั้งใจจะถือในระยะยาว เพื่อนำไปใช้จ่ายหนี้สิน (เงินฝากที่ลูกค้ามาถอน) ในสถานการณ์ปกติแล้ว เวลามูลค่าของตราสารหนี้แกว่งตัวไปมานั้น จะยังไม่ได้ถือว่าเป็นกำไรหรือขาดทุนในตอนนั้น ยกเว้นแต่จะมีการขายออกมาจริง (ไม่สามารถทำตามวัตถุประสงค์ในตอนแรก ที่ต้องการจะถือในระยะยาวจนครบกำหนดสัญญา) ถึงจะนำส่วนต่างของการแกว่งจากการผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยมาถือว่าเป็นการขาดทุนในตอนนั้น


ถ้าเราทำความเข้าใจถึงหลักการทั้งหมดดังกล่าวแล้ว ก็นำมาเข้าสู่กรณีศึกษาของ

ธนาคาร SVB ในอเมริกาที่เพิ่งล้มไปนั้น โดยผมสามารถสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้


1. วัตถุประสงค์ของ SVB ที่แตกต่างจากธนาคารอื่น คือ ตั้งขึ้นมาเพื่อระดมทุนจากลูกค้าที่มีลักษณะธุรกิจประเภท Start Up โดยตอนแรกมีความตั้งใจจัดตั้งขึ้นมาเพื่อกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ Start Up ด้วยกันเอง ทั้งการรับฝากเงินและการปล่อยสินเชื่อจึงอยู่ในกลุ่ม Start Up ด้วยกันเอง


2. SVB ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นธนาคารเพื่อดำเนินการปล่อยสินเชื่อให้คนทั่วไป ดังนั้นเงินที่เหลือจากการปล่อยกู้ให้ Start Up ก็จะนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยที่สุด แต่ก็ยังเกิดดอกผล นั่นก็คือ พันธบัตรรัฐบาล 


3. ลูกค้าของ SVB ระดมทุนได้ยากและมีต้นทุนสูงขึ้น และผลที่ตามมา จึงมีความต้องการไปถอนเงินฝากที่ SVB เพื่อใช้ดำเนินการในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้ SVB จำเป็นต้องขายตราสารหนี้ในราคาประเมินใหม่ (ที่มีมูลค่าต่ำ เนื่องจากการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น)


4. พอคนเริ่มตกใจกับข่าว ก็มีคนแห่ไปถอนเงินกันมากขึ้น (ภาษาการเงินเรียกว่า Bank Run) ทางธนาคารก็จะต้องถูกบังคับขายตราสารหนี้ในขณะนั้น เพื่อนำเงินสดมาจ่ายให้กับคนที่ถอนเงิน และยิ่งทำให้ราคาของตราสารหนี้ที่ขายได้ตกหนักไปอีก และก็ต้องรับรู้ผลขาดทุนกันในตอนนั้นด้วย (ไม่สามารถทำตามวัตถุประสงค์ในตอนแรก ที่ต้องการจะถือในระยะยาวจนครบกำหนดสัญญา) 


5. เมื่อเกิดภาวะ Bank Run ไม่ว่าจะธนาคารไหน ก็จะล้มไม่เป็นท่า ซึ่งในกรณีนี้ SVB ก็ไม่มีข้อยกเว้น


จริงๆ แล้ววิธีป้องกันเรื่องเหล่านี้ ก็มีในวิชาบริหารความเสี่ยงอยู่ทั้งหมดแล้วครับ สามารถตามหาอ่านบทความเกี่ยวกับ Asset Liability Management (ALM) ที่ผมเคยเขียนลงไว้ได้ (เดี๋ยวแปะ โพสต์ลงใต้คอมเม้นต์) เพียงแต่หลายคนอาจมองข้ามไป นานๆ เกิดขึ้นที ก็กลับมาให้ความสนใจเรื่อง ALM กัน แต่ในจุดนี้ ผมมองว่ายังไม่ถึงขั้นวัวหายล้อมคอกครับ ทุกกิจการสามารถกลับมาให้ความสนใจเรื่อง ALM เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาอีกได้โดยไม่ยาก แต่ต้องอาศัยความเข้าใจและประสบการณ์เรื่อง ALM ของสถาบันการเงินให้ดี


ปล. Silicon Valley Bank (SVB) เป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของอเมริกา ธนาคารแห่งนี้เน้นให้เงินกู้แก่ Tech Start Up และกองทุน Venture Capital โดยธนาคาร SVB มีเงินฝากถึง $190 billion หรือ มีค่าเท่ากับสินทรัพย์ประมาณ 2 เท่าของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยในประเทศไทยรวมกัน


Credit : #อาจารย์ทอมมี่ #พิเชฐเจียรมณีทวีสิน #ABS #Actuarialbiz


แหล่งที่มาข่าวต้นฉบับสยามรัฐออนไลน์

https://siamrath.co.th/n/430687

X